รายงานภายใต้การกำกับดูแลกิจการ และเอกสารดาวน์โหลด

คณะกรรมการเข้าใจบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ที่มีต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น โดยมีนโยบายตามข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Code of Best Practices) สำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่เป็นไปตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพื่อให้บริษัทฯ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีระบบการวัดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้กิจการมีการพัฒนาและเติบโตในระดับที่เหมาะสม โดยมีแนวทางในการดำเนินการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ดังนี้

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ประกาศในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคงของบริษัทฯ และเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการในระยะยาว คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายในการกำกับดูแลกิจการ เพื่อเป็นแนวทางที่กรรมการบริษัทฯ พึงใช้ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ไว้ดังนี้

  1. กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละชุดและผู้บริหารอย่างชัดเจน ตามโครงสร้างการจัดการบริษัทฯ
  2. ดำเนินกิจการด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ครบถ้วน และสะท้อนถึงผลการดำเนินกิจการที่แท้จริง มีการประเมิน และวางมาตรฐานป้องกัน และจัดการความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม
  3. กำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการการดำเนินกิจการ เพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
  4. ผลิตสินค้าด้วยคุณภาพที่ดีที่สุด ตอบสนองความต้องการ และความพึงพอใจของลูกค้า ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อตำหนิติเตียนของลูกค้า เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาสินค้าที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า
  5. เชื่อมั่นในคุณค่าของพนักงานด้วยการอบรมและพัฒนา เพื่อปลูกฝังคุณธรรม สร้างจิตสำนึกอันดีงาม เพื่อให้พนักงานเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับบริษัทฯ
  6. ตระหนักและเคารพในสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นทุกรายด้วยความเท่าเทียมกัน
  7. ดำเนินการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
  8. ต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชั่น และห้ามจ่ายสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท ไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เคารพต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการบริษัทฯได้ให้ความสำคัญต่อการเคารพต่อสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นทุกราย โดยปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิและความเท่าเทียมกัน ดังนี้

  1. สิทธิในการรับทราบข้อมูล ผลการดำเนินงาน และนโยบายการบริหารงาน ของบริษัทฯ อย่างรวดเร็วสม่ำเสมอและทันเวลา โดยผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ เว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ www.sabina.co.th
  2. สิทธิในการซื้อขายและการโอนหุ้น การได้รับส่วนแบ่งในผลกำไรของบริษัท
  3. สิทธิในการเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการ โดยบริษัทได้ทำหลักเกณฑ์ในการเสนอเรื่องดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ ของบริษัทที่ www.sabina.co.th และแจ้งการเผยแพร่ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  4. สิทธิในการส่งคำถามเพื่อสอบถามประเด็นต่างๆของระเบียบวาระที่นำเสนอในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า โดยสามารถส่งคำถามล่วงหน้ามาที่เลขานุการบริษัททางอีเมล์ : secretary@sabina.co.th โทรสาร : 02-424-7993 และได้เผยแพร่ให้ทราบถึงสิทธิดังกล่าวบนเว็บไซต์ของบริษัท ฯ ที่ www.sabina.co.th
  5. สิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยทางบริษัทฯ จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นปีละ 1 ครั้ง โดย บริษัทฯจะจัดให้มีการส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมเอกสารข้อมูลประกอบการประชุมที่มีรายละเอียดเพียงพอให้กับผู้ถือหุ้น เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาล่วงหน้าก่อนการเข้าร่วมประชุม
  6. บริษัท ฯ มีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสถาบันได้เข้าร่วมประชุมโดยการจัดสถานที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่สามารถเดินทางไปได้ง่ายและสะดวกและมีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงและเพียงพอ
  7. บริษัทฯเปิดเผยโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท และในบริษัทย่อยไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใสและตรวจสอบได้และไม่มีการถือหุ้นไขว้ในกลุ่มบริษัท
  8. บริษัทฯ มีส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย(Free Float) มากกว่าร้อยละ40
  9. บริษัทฯมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนสถาบันรวมกันมากกว่าร้อยละ 5
  10. บริษัทไม่มีข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น(Shareholders agreement) ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น
  11. บริษัทฯ ยังได้เพิ่มช่องทางเผยแพร่หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น เอกสารประกอบวาระการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งแบบฟอร์มมอบฉันทะ และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ล่วงหน้าในเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.sabina.co.th ก่อนการจัดส่งเอกสารไปยังผู้ถือหุ้นรับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการใช้สิทธิออกเสียง และมีการเผยแพร่รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซด์ของบริษัทฯ
  12. เพื่อเป็นตัวแทนรักษาสิทธิของตนได้ ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่น หรือกรรมการอิสระของบริษัทฯ เพื่อลงคะแนนเสียงแทนในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง
  13. บริษัทฯ ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันทุกราย ซึ่งรวมถึงนักลงทุนสถาบันให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วย โดยมีการชี้แจงรายละเอียดในการประชุมรวมถึงวิธีนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่ต้องลงมติในแต่ละวาระตามข้อบังคับของบริษัทฯ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกรายสามารถสอบถาม แสดงความคิดเห็น เสนอแนะในแต่ละวาระ และสรุปผลการลงมติจากการนับคะแนนเสียงในทุกวาระ
  14. บริษัทฯ จัดให้มีการดำเนินการเผยแพร่รายงานการประชุมผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องรอถึงการประชุมครั้งต่อไป
  15. สิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในการรับซื้อหุ้นคืน และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้

การประชุมผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการประชุมผู้ถือหุ้น โดยจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นปีละ 1 ครั้งภายในระยะเวลา 4 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทและถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ ที่จะต้องเข้าร่วมประชุมทุกครั้งหากไม่ติดภารกิจสำคัญ โดยการจัดประชุม ทางบริษัทฯ จะจัดส่งหนังสือเชิญประชุม แบบฟอร์มมอบฉันทะ พร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมวาระต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบล่วงหน้าอย่างครบถ้วนก่อนวันประชุมอย่างน้อย 21 วันก่อนวันประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นใช้ประกอบการตัดสินใจลงคะแนนในวาระต่างๆ กรณีที่ผู้ถือหุ้นประสงค์จะมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทน สามารถเลือกมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกรรมการอิสระของบริษัทฯ เข้าประชุมแทนได้

  1. บริษัทฯมีนโยบายสนับสนุน หรือส่งเสริมผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ถือหุ้นสถาบันให้เข้าร่วมประชุม ผู้ถือหุ้น
  2. บริษัทฯจัดให้มีเว็บไซต์ เพื่อเสนอข้อมูลที่สำคัญ ข่าวสารต่างๆ เช่น รายงานงบการเงินประจำไตรมาส ประจำปี แบบแสดงข้อมูลประจำปี(แบบ56-1 one report) รวมทั้งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีข้อมูล วัน เวลา สถานที่ วาระการประชุม ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแต่ละวาระ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม และขั้นตอนการออกเสียงอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นข้อมูลเดียวกับที่จัดส่งให้ผู้ถือหุ้นในรูปแบบเอกสาร โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ อย่างน้อย 30 วัน ก่อนการประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ
  3. บริษัทฯ จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น โดยอำนวยความสะดวกสถานที่จัดประชุม ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สะดวกต่อการเดินทาง และจัดให้มีเวลาดำเนินการประชุมอย่างเพียงพอ
  4. บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสและให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและเสนอรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรายใหม่เป็นการล่วงหน้า โดยมีวิธีการปฏิบัติที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ
  5. บริษัทฯ เปิดโอกาสให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นส่งคำถามเกี่ยวกับวาระการประชุมล่วงหน้าอย่างน้อย1 เดือนก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น ผ่านทางเว็บไซต์บริษัทฯ
  6. บริษัทฯ ได้สนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้หนังสือมอบฉันทะรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้ และเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คนเป็นทางเลือกในการมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น
  7. บริษัทให้สิทธิผู้ถือหุ้น ที่มาร่วมประชุมภายหลังจากการประชุมเริ่มแล้ว มีสิทธิออกเสียงหรือลงคะแนนในระเบียบวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้ลงมติ
  8. บริษัทจัดให้มีตัวแทนจากสำนักงานสอบบัญชีเป็นผู้ตรวจสอบการนับคะแนนเสียงในการประชุม ผู้ถือหุ้น และเปิดเผยไว้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัท ได้ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นและดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรมดังนี้

  1. การเสนอระเบียบวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ

    บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเสนอเพิ่มวาระการประชุมล่วงหน้าและเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯกำหนดได้ให้สิทธิผู้ถือหุ้นในการเสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมแ และเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์และ website บริษัทก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

  2. การมอบฉันทะให้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น

    ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่น หรือกรรมการอิสระของบริษัทเข้าประชุมแทนได้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของตนเอง โดยบริษัทได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานประกอบการมอบฉันทะ พร้อมทั้งได้แนะนำวิธีและขั้นตอนในการมอบฉันทะไว้อย่างชัดเจน ที่ทางบริษัทได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือมอบฉันทะแบบ ข. ซึ่งเป็นแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนได้ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ บริษัทได้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมฉบับภาษาอังกฤษและหนังสือมอบฉันทะแบบ ค.เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติพร้อมทั้งสามารถดูได้จาก website ของบริษัท

  3. กำหนดสิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการออกเสียงลงคะแนนให้เป็นไปตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่โดยหนึ่งหุ้นมีสิทธิเท่ากับหนึ่งเสียง และไม่มีหุ้นใดที่มีสิทธิพิเศษที่จะจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้นรายอื่น
  4. ในการลงคะแนนเสียงแต่ละวาระกระทำโดยเปิดเผย มีการใช้บัตรลงคะแนนเสียงในทุกวาระ และจะเก็บบัตรลงคะแนนเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงยกเว้นวาระเลือกตั้งกรรมการ จะเก็บบัตรลงคะแนนจากผู้ถือหุ้นทุกรายที่เข้าร่วมประชุม โดยใช้ระบบ Barcode ในการนับคะแนนเสียงในแต่ละวาระ
  5. การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน

    บริษัทฯ มีนโยบายและวิธีการป้องกันกรรมการบริษัทผู้บริหารและพนักงานในการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ดังนี้

    1. 1) บริษัทฯ จัดให้มีระบบ Firewall เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีในการเข้ามาดูแล หรือทำลายข้อมูลที่สำคัญของบริษัทฯ นอกจากนั้นยังมีระบบ Anti Virus เพื่อป้องกันการนำไวรัสเข้ามาเผยแพร่ หรือทำลายข้อมูล
    2. 2) บริษัทฯ มีการกำหนดระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลของพนักงาน Security ในแต่ละ Program Software เพื่อจัดระดับของพนักงานในการเข้าถึงข้อมูลได้
    3. 3) บริษัทฯ ได้มีการกำหนดการเก็บรักษา และการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ไว้ในสัญญาจ้างแรงงาน และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบายการกำกับดูแลกิจการ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน ในการไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง จากข้อมูล หรือข่าวสารใดๆ ของบริษัทฯ ที่ยังเป็นความลับ และยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ
    4. 4) บริษัทฯ จะทำการแจ้งให้ผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลภายใน และหลีกเลี่ยงหรืองดการซื้อ หรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วง 7 วัน ก่อนงบการเงินเผยแพร่ต่อสาธารณะ หากมีการซื้อขายในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทฯ มีมาตรการลงโทษและแจ้งให้ทราบถึงบทลงโทษซึ่งเริ่มตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร พักงานชั่วคราว และออกจากงาน ตามลำดับ และบริษัทฯ มีมาตรการแก้ไขโดยให้บุคคลที่กระทำผิดดังกล่าวทำการกลับรายการ และนำผลกำไรที่ได้จากการซื้อขายหุ้นนั้น ๆ ไปบริจาคแก่องค์กรการกุศลต่อไป
    5. 5) บุคคลภายนอกที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ จัดทำ หรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อาจมีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ จะต้องทำสัญญารักษาข้อมูลความลับ ไว้กับบริษัทฯ จนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    6. 6) บริษัทมีโครงสร้างการถือหุ้นแบบไม่ซับซ้อน รายการระหว่างกันที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดเป็นการทำรายการตามปกติธุรกิจ
    7. 7) บริษัทปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทำรายการเกี่ยวโยงกัน หลักเกณฑ์การได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์เป็นต้น

คณะกรรมการบริษัทฯ เคารพต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก และได้กำหนดเป็นแนวปฏิบัติไว้ในจรรยาบรรณของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และมั่นใจว่าสิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละกลุ่ม ตลอดจนคำนึงถึงชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชั่น ไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือลิขสิทธิ์ และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

ผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ มุ่งมั่นในอันที่จะพัฒนากิจการของบริษัทฯ ให้เจริญก้าวหน้า ด้วยความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้บริษัทฯ มีความมั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ ครบถ้วน และถูกต้อง อีกทั้งขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบ ด้วยความมีเหตุมีผล และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

ลูกค้า

บริษัทฯ ตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะสร้างความพึงพอใจและความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าให้กับลูกค้า โดยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกวัย ตลอดจนเอาใจใส่และดำเนินการอย่างเป็นธรรมต่อคำร้องเรียนของลูกค้า โดยผ่านทางพนักงานขายของบริษัทฯ ซึ่งประจำอยู่ตามเคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้า ตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ

พนักงาน

พนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นหัวใจสำคัญที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ บริษัทฯจึงปฏิบัติต่อพนักงานโดยมุ่งส่งเสริมการฝึกอบรม และพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานอย่างทั่วถึง พร้อมกับสร้างความมั่นคงในอาชีพ และให้โอกาสในการเจริญก้าวหน้าตามศักยภาพของแต่ละคน รวมถึงให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานและพัฒนาบริษัทฯ ให้ผลตอบแทนด้วยความเป็นธรรม เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ และผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน ตลอดจนดูแล รักษา สภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยคำนึกถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สินของพนักงาน บริษัทฯ ให้การดูแลพนักงานในด้านความปลอดภัยและจัดให้มีสวัสดิการต่าง ๆ เช่น

  • ห้องพยาบาล
  • การตรวจสุขภาพประจำปี
  • สวัสดิการซื้อสินค้าราคาพิเศษเพื่อช่วยการครองชีพของพนักงาน
  • ชุดฟอร์มพนักงาน
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อการออมเงินในอนาคต
  • โครงการเงินกู้เมื่อพนักงานจำเป็นต้องใช้ยามฉุกเฉิน
  • จัดฝึกอบรมและสัมมนาทั้งภายในและภายนอก เพื่อพัฒนาพนักงาน
  • การส่งพนักงานไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คู่ค้า และหรือ เจ้าหนี้

บริษัทฯได้ให้ความสำคัญต่อคู่ค้าหรือเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตของบริษัทฯโดยทางบริษัทฯได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและประเมินผู้ขายด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขายมีระดับความสามารถที่จะตอบสนองต่อข้อกำหนดทางคุณภาพของบริษัทและลูกค้าได้โดยทางบริษัทมีหลักการคัดเลือกทั้งการประเมินตามวัตถุดิบ วัสดุสินค้าต่าง ๆและรวมถึงการประเมินผู้ขายดังนี้

วัตถุดิบและวัสดุสินค้าทั่วไป หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกมีดังนี้

  1. ระยะเวลาในการจัดส่ง
  2. ราคาของสินค้า
  3. ปริมาณขั้นต่ำในการสั่งซื้อ
  4. มีระบบการตรวจสอบของแต่ละสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด
  5. เงื่อนไขการชำระเงิน
  6. ระยะเวลาในการผลิต
  7. กำลังการผลิต
  8. ความถี่ในการจัดส่งสินค้า

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และการจ้างทำอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกมีดังนี้

  1. คุณภาพของสินค้า
  2. ระยะเวลาในการแก้ปัญหา
  3. จำนวนส่งที่เทียบกับใบสั่งซื้อ
  4. ส่งของได้ตามเวลาที่กำหนด
  5. เงื่อนไขการชำระเงิน
  6. ระบบเอกสารในการจัดส่ง(เฉพาะผู้ขายในต่างประเทศ) โดยทางบริษัทได้จัดให้มีการทำแบบฟอร์มในการคัดเลือกผู้ขายและจัดให้มีการประเมินผู้ขายอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

บริษัทฯ จะรักษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่มีต่อคู่ค้า และหรือเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด และไม่เรียกรับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ไม่สุจริตในการค้า และจะสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีต่อกัน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการหากเกิดกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ได้ บริษัทฯ จะแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป

บริษัทยังมีนโยบายแนะนำให้คู่ค้าเข้าร่วมโครงการAnti-Corruption โดยชักชวนบริษัทคู่ค้าเข้าร่วมประชุมและรับฟังรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ CAC FOR SME

สังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมให้เกิดขึ้นในบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยส่วนรวม และไม่กระทำการใดๆ หรือให้การสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดผลเสียประเทศชาติ และ/หรือ เป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศโดยกำหนดนโยบายและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนหลายกิจกรรม

คู่แข่งขันทางการค้า

บริษัทฯ จะประพฤติปฏิบัติตามกรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม หรือขัดต่อกฎหมายใด โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
  2. ไม่พยายามทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยการกล่าวหาให้ร้าย โดยปราศจากความจริง
  3. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความเป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม เช่น การจ่ายสินจ้างให้กับพนักงานของคู่แข่ง
  4. สนับสนุนและส่งเสริมการค้าเสรี เป็นธรรมไม่ผูกขาดหรือกำหนดให้ลูกค้าของบริษัทต้องทำการค้ากับบริษัทเท่านั้น
  5. สนับสนุนการร่วมมือกับคู่แข่งทางการค้าที่เป็นประโยชน์ของผู้บริโภค มิใช่เป็นไปเพื่อการผูกขาดการจัดสรรรายได้และส่วนแบ่งการตลาด การลดคุณภาพของสินค้าและบริการ การกำหนดราคาสินค้าและบริการ อันจะก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคในภาพรวม

การไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์

คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์โดยกำหนดให้กรรมการผู้บริหารและพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยทุกคนปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ โดยการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทไม่ให้ถูกล่วงละเมิดและหลีกเลี่ยงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น

การปฎิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนสากล

คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายให้บุคลากรของบริษัทฯ พึงปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศที่บริษัทฯได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ ตามกฎหมายแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งข้อบังคับที่เกี่ยวข้องและอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากลด้วยความเป็นธรรม

การต่อต้านการทุจริตและการจ่ายสินบนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายในการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น และบริษัทได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต(Private Sector Collective Action Coalition against Corruption) พร้อมทั้งมีการกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยทุกคนปฏิบัติตามนโยบายว่าด้วยการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น โดยกำหนดนโยบายที่เน้นการปลูกจิตสำนึกให้พนักงานและผู้บริหารทุกระดับ ตระหนักถึงผลเสียของการทุจริตคอร์รัปชั่นรวมถึงการสร้างค่านิยมที่ดี เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความถูกต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ รวมทั้งได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการต่อต่านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว และปฏิบัติตนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด บริษัทจึงได้กำหนดกรรมการผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อยทุกคน ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนี้

  • เน้นการปลูกจิตสำนึกให้พนักงานและผู้บริหารทุกระดับ ตระหนักถึงผลเสียของการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งสร้างค่านิยมที่ดี เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความถูกต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
  • กำหนดให้กรรมการบริษัท และพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ทั้งต่อบริษัท ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน และต่อคนรู้จัก
  • สร้างระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น จะส่งผลให้ความโปร่งใสและการกำกับดูแลกิจการที่ดี เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตรวจสอบได้
  • บริษัทมีมาตรการในการคุ้มครองผู้ร้องเรียนในการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน โดยจะจัดเก็บข้อมูลที่ได้รับจากผู้ร้องเรียนไว้เป็นความลับ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนเป็นสำคัญ โดยจะได้รับความคุ้มครองจาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
  • การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  • บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจแก่กรรมการบริษัท พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

ทั้งนี้ การกำหนดนโยบาย หลักปฏิบัติ รวมถึงการสร้างระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น จะส่งผลให้ความโปร่งใสและการกำกับดูแลกิจการที่ดี เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตรวจสอบได้ จากนโยบายดังกล่าวได้กำหนดเป็นมาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการหาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม และกำหนดช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน มายังฝ่ายตรวจสอบของบริษัทฯ และกรรมการอิสระของ บริษัทฯ

อาชีวอนามัย และความปลอดภัย

คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายและมีแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงาน มีสิทธิค่ารักษาพยาบาล รวมถึงอุปกรณ์ ยา ขั้นพื้นฐาน ให้สำหรับพนักงาน และสวัสดิการอย่างเพียงพอและเหมาะสม อีกทั้งยังมีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างปลอดภัยถูกสุขอนามัย และมีการควบคุมลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและสุขภาพ อันอาจเกิดขึ้นในสถานที่ปฏิบัติงาน มีการตรวจแสง สี เสียง ฝุ่น ควัน ในสถานประกอบการ และจัดให้มีอุปกรณ์ ในการป้องกันอันตราย และมีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ

บริษัท มีช่องทางให้ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถส่งข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น หรือคำถาม รวมทั้งข้อร้องเรียนมายังบริษัทผ่านทางเลขานุการบริษัทคือ คุณวาจา มุขโต E-mail address : secretary@sabina.co.th หรือหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์คือ คุณบุญชัย ปัณฑุรอัมพร และ คุณสมคิด ผดุงเกียรติศักดิ์ E-mail address : ir@sabina.co.th โทรศัพท์ 02-4229400 โดยที่อยู่ทางไปรษณีย์ ได้แก่ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) เลขที่ 12 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นประเด็นสำคัญหรือเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัท เลขานุการจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการของบริษัทต่อไป

และบริษัทฯ จัดให้มีมาตรการในการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน การกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือประพฤติมิชอบ ของบุคคลากรในบริษัทฯ ทั้งจากพนักงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ ผ่านทางฝ่ายตรวจสอบภายใน ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนกระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับเบาะแส ข้อร้องเรียน

บริษัทฯ เปิดโอกาสให้บุคลากรของบริษัทฯ บุคคลที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถติดต่อ/ร้องเรียนในเรื่องที่อาจเป็นปัญหากับคณะกรรมการโดยตรง โดยมีช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน เพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ดังนี้

  • ผู้รับเรื่องร้องเรียนรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อยและบริษัทย่อยทางอ้อม
  • ผู้รับเรื่องร้องเรียนรายงานข้อเท็จจริงต่อกรรมการอิสระ ปฏิบัติหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาการร้องเรียน โดยแยกแยะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ออกเป็นประเด็น ด้านการสนับสนุนทางการเมือง ด้านการให้เงินสนับสนุนและการบริจาคเพื่อการกุศล และการรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด และการเลี้ยงรับรอง
  • มาตรการดำเนินการ โดยผู้รับเรื่องร้องเรียนนำเสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีการกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเรื่อง พร้อมกำหนดมาตรการดำเนินการ เพื่อระงับการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณธุรกิจโดยทางคณะกรรมการจะมีการกลั่นกรองข้อมูลและจะมีการส่งข้อมูลถึงคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาต่อไป
  • การรายงานผล ผู้รับเรื่องร้องเรียนมีหน้าที่แจ้งผลสอบสวนข้อเท็จจริงให้ผู้ร้องเรียนรับทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่สอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ หากผู้ร้องเรียนเปิดเผยตนเองในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญผู้รับเรื่องร้องเรียนรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อประธานกรรมการ และ/หรือคณะกรรมการบริษัทฯ ทราบ
  • หากผู้ถูกกล่าวหา กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นจริง ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบ ข้อบังคับของบริษัทฯ ที่กำหนดไว้ หากกระทำผิดต่อกฎหมายต้องได้รับโทษทางกฎหมายต่อไป
  • มีกระบวนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้นสังกัดคอยดูแลความประพฤติและตักเตือนไม่ให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำอีก รวมถึง ดูแลพนักงานทุกคนไม่ให้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด
  • เมื่อคณะกรรมการบริษัทได้รับรายงานถึงผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ และบริษัทย่อยและบริษัทย่อยทางอ้อม ให้ดำเนินการแจ้งหน่วยงานต้นสังกัดของผู้กระทำการฝ่าฝืนเพื่อหาช่องทางและแนวทางการแก้ไขต่อไป

ช่องทางการแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน

  • ฝ่ายตรวจสอบภายใน ผ่านอีเมล์ : GRP_AUDIT_HO@sabina.co.th
  • ฝ่ายตรวจสอบภายใน ผ่านโทรศัพท์ : 02-422-9400
  • ฝ่ายตรวจสอบภายใน ผ่านไปรษณีย์ : ฝ่ายตรวจสอบภายใน
  • หรือแจ้งผ่านคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรง
    ไปรษณีย์ : บริษัท ซาบีน่า จำกัด(มหาชน)
                     เลขที่ 12 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

โดยข้อมูลการร้องเรียนทั่วไปจะถูกเก็บโดยเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อรายงานคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรงและบริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน

  • ผู้ร้องเรียนสามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้ หากพบว่าเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่หากผู้ร้องร้องเปิดเผยตนเองจะทำให้บริษัทฯ สามารถรายงานความคืบหน้าและชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่ผู้ร้องเรียนได้รับทราบ
  • ผู้รับข้อร้องเรียนจัดเก็บข้อมูลที่ได้รับจากผู้ร้องเรียนไว้เป็นความลับ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนเป็นสำคัญ โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองแก่ผู้ร้องเรียน และ/หรือผู้ที่ให้ข้อมูล และ/หรือความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูล โดยจะได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเปลี่ยนตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง อันเนื่องมาจากสาเหตุแห่งการแจ้งข้อร้องเรียน เป็นต้น ซึ่งข้อร้องเรียนการดำเนินการทั่วไปจะถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือคณะกรรมการตรวจสอบ ถูกเก็บโดยคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ โดยตรง

นอกจากนี้บริษัทยังจัดช่องทางในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องเรียนในกรณีการกระทำผิดกฎหมายและจรรยาบรรณของผู้บริหารระดับสูง การกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิ์และพฤติกรรมที่ส่อถึงการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ผ่านช่องทางดังนี้

ไปรษณีย์ : ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือประธานกรรมการตรวจสอบ
บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 12 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700

โดยข้อมูลร้องเรียนการดำเนินการทั่วไปจะถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการตรวจสอบ โดยบริษัทจะไม่เปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส และให้ความเป็นธรรม ส่วนการร้องเรียนการกระทำผิดของผู้บริหารระดับสูงจะถูกเก็บโดยคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรงและบริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

  1. การเปิดเผยข้อมูลของบริษัท
    บริษัทได้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่ด้านการเงินซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นในการลงทุนโดยได้จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ถูกต้องครบถ้วน และทันเวลาไว้ในรายงานประจำปี คำอธิบายและบทวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ข่าวประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์และเว็บไซต์ของทางบริษัท www.sabina.co.th ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
    ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูล และการสื่อสารเกี่ยวกับบริษัทฯทั้งต่อบุคลภายในและภายนอกทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวโดยวาจา หรือเป็นการแถลงข่าว ถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องยึดมั่นในความถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส เป็นไปตามคู่มืออำนาจดำเนินการและระเบียบของบริษัทฯ รวมถึงมีความสอดคล้องกับกฎหมาย
  2. การจัดทำรายงานทางด้านการเงิน
    เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงิน ว่ามีความครบถ้วน ถูกต้อง โปร่งใส อย่างเพียงพอคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่องบการเงินรวมของบริษัทฯ และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปีให้มีการจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและ ถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงินตลอดจนได้มีการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและความรอบคอบในการจัดทำงบการเงิน โดยคณะกรรมการบริษัทฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระ เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน และระบบการควบคุมภายใน
  3. บริษัทมีการเปิดเผยนโยบายการกำกับดูแลกิจการ จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ จรรณยาบรรณของกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงาน เป็นลายลักษณ์อักษรและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท
  4. คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดนโยบายการดูแลสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามนโยบายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  5. บริษัท ได้มีการเปิดเผยการทำรายการระหว่างกัน ซึ่งบริษัทได้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยเปิดเผยรายละเอียดของรายการ โดยระบุชื่อบุคคลที่มีการทำรายการระหว่างกัน ความสัมพันธ์ ลักษณะของรายการเงื่อนไข / นโยบายราคาและมูลค่า ระหว่างกัน
  6. บริษัทมีการกำหนดนโยบายให้กรรมการของบริษัทต้องรายงานการซื้อ-ขายหุ้น/ถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททราบทุกครั้ง
  7. บริษัทมีการกำหนดนโยบายให้คณะกรรมการบริษัทรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการบริษัทและผู้บริหารต้องรายงานให้บริษัททราบทุกครั้งถึงการมีส่วนได้เสียของตนและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งหรือวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
  8. ค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหาร
    การกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นไปอย่างชัดเจนโปร่งใส จากการเปรียบเทียบกับบริษัทฯ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษากรรมการที่มีความรู้ความสามารถไว้ได้ และค่าตอบแทนของกรรมการมีการนำเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี
    สำหรับค่าตอบแทนผู้บริหาร เป็นไปตามหลักการและนโยบายที่คณะกรรมการบริหารกำหนดซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแต่ละท่าน
  9. ความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน
    คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศทั้งทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินที่มีความครบถ้วน เพียงพอ โปร่งใส ทันเวลา และทั่วถึง โดยบริษัทฯ มีการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ และข่าวสารต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.sabina.co.th เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก และรวดเร็ว เช่น ข้อมูลลักษณะการประกอบธุรกิจ งบการเงิน โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างองค์กร รายงานประจำปี หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น

    นอกจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อให้บริการข้อมูล และข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ กับผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนการตอบข้อซักถามของนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถติดต่อเข้ามาทางผู้ดุแลหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์คือ คุณบุญชัย ปัณฑุรอัมพร และ คุณสมคิด ผดุงเกียรติศักดิ์ โดยผ่านทางอีเมล์ ir@sabina.co.th หรือโทรศัพท์ได้ที่ โทร.0-2422-9400

คณะกรรมการบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจการของบริษัทฯ ให้เจริญก้าวหน้า และมีการเติบโตที่มั่นคง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทฯ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบ และความระมัดระวังในการจัดการบริษัทฯ อย่างเต็มความสามารถ โดยยึดถือตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และข้อพึงปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และให้เป็นตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้นำเสนอวิสัยทัศน์ และภารกิจ กลยุทธ์ นโยบาย และงบประมาณ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบ และเป็นแนวทางให้คณะกรรมการบริษัทฯ ในการกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าและความมั่งคั่งแก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายด้วยและคณะกรรมการบริษัทได้มีการพิจารณาอนุมัติ และทบทวนวิสัยทัศน์ และภารกิจของบริษัท และให้ความเห็นชอบและติดตามให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติตามแผนงานให้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ติดตามดูแลให้มีการนำกลยุทธ์ของบริษัทไปปฏิบัติ โดยในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ทุกไตรมาสคณะกรรมการบริษัทฯ ได้ติดตามผลการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของเป้าหมายทางการเงินและแผนงานต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้

คณะกรรมการบริษัทได้มีการพิจารณากำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารของบริษัทโดยได้จัดให้มีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนทั้งในด้านโครงสร้างและการปฏิบัติตามหน้าที่ ทั้งนี้บริษัทได้มีการจัดทำหนังสือมอบอำนาจระบุขอบเขตที่ชัดเจนของผู้บริหารและมีการกำหนดระดับอำนาจในการดำเนินงานแต่ละด้านไว้อย่างชัดเจน

และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์และขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย บริษัทฯ จัดให้มีการปฐมนิเทศให้กับกรรมการใหม่โดยบริษัทได้จัดเตรียมและนำส่งเอกสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่เช่นโครงสร้างเงินทุน โครงสร้าง ผู้ถือหุ้น รายชื่อและประวัติโดยย่อของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ลักษณะการประกอบธุรกิจผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม ให้ความรู้ด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ รวมทั้งจัดทำสรุปภาพรวมธุรกิจและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนนโยบายและระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ให้กรรมการใหม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจ พร้อมคู่มือข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานขณะดำรงตำแหน่งกรรมการอีกด้วย

คณะกรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลและขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบด้วยความมีเหตุมีผล

การทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทฯ จะทำการเปิดเผยข้อมูลต่อที่ประชุมโดยระบุมูลค่ารายการ คู่สัญญา เหตุผลความจำเป็นของการทำรายการดังกล่าว ด้วยข้อมูลที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ หากรายการใดจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯ และหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น รายการดังกล่าวจะได้รับการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะกรรมการตรวจสอบก่อน และจะมีการให้ความเห็นต่อการทำรายการดังกล่าว

ในกรณีที่คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นที่แตกต่างจากคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัทจะมีการเปิดเผยความเห็นที่แตกต่างดังกล่าวด้วย ในกรณีที่กรรมการที่มีส่วนได้เสียในวาระใดๆ กรรมการท่านนั้นจะไม่มีสิทธิออกเสียงในวาระดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และให้กรรมการบริษัท , ผู้บริหาร และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องให้มีการรายงานการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย เพื่อให้บริษัทมีข้อมูลประกอบการดำเนินการตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันโดยผ่านวาระการประชุมของคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส

บริษัทได้มีการเปิดเผยรายการระหว่างกันกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งในปี 2566 รวมทั้งคณะกรรมการบริษัทได้ให้ความเห็นว่ารายการระหว่างกันทุกรายการเป็นรายการที่สมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต.

นอกจากนั้นทางบริษัทฯ ยังมีนโยบายห้ามมิให้ผู้บริหารและพนักงานที่อยู่ในหน่วยงานที่รับทราบข้อมูลทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯในช่วง 7 วัน ก่อนการเปิดเผยงบการเงินแก่สาธารณชน และถือเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับของบริษัทฯ หากกระทำการอันเป็นการแสวงประโยชน์ส่วนตนจากข้อมูลภายในที่ตนล่วงรู้ก่อนเปิดเผยสู่สาธารณะ และละเว้นการซื้อขายหลักทรัพย์หรือรอให้ผู้ลงทุนรับทราบข้อมูลภายหลังจากวันที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล อย่างน้อย24 ชั่วโมง แต่ถ้าข้อมูลมีความซับซ้อนมากให้รอถึง 48 ชั่วโมงภายหลังจากข้อมูลได้มีการเผยแพร่แล้ว นอกจากนี้ หากกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารมีการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บริษัทฯ จะต้องแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทฯ ให้รับทราบทุกครั้ง

โดยบริษัท ได้กำหนดนโยบายให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงแจ้งต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของตนเองอย่างน้อยล่วงหน้า 1 วันก่อนทำการซื้อขาย

อีกทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้กำหนดให้มีการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร และผู้บริหาร รวมถึงครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมายของกรรมการทุกคณะ มีหน้าที่รายงานการถือครองหลักทรัพย์และการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า พนักงาน และสังคมส่วนรวม บริษัทฯ จะควบคุมดูแลไม่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและผู้เกี่ยวข้อง โดยการนำข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผย หรือที่เป็นความลับไปใช้หรือนำไปเปิดเผยกับบุคคลภายนอก หรือทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดทำคู่มือจริยธรรมธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษร และทำการสื่อสารให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนได้รับทราบ และยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และทั่วถึง รวมถึงให้มีการติดตามการปฏิบัติตามคู่มืออย่างสม่ำเสมอ

ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการให้พนักงานทุกคนทำแบบทดสอบเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และการปฏิบัติงาน ตลอดจนนโยบายทรัพยากรบุคคล(Human Resource Poly Testing) เป็นระยะ ผ่านระบบ Internet ของบริษัท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานทุกคนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง บริษัทฯ ได้นำผลที่ได้มาประเมินระดับความรู้และความเข้าใจของพนักงานเพื่อปรับปรุงการสื่อสารให้พนักงานมีความเข้าใจอย่างทั่วถึง และตระหนักถึงหน้าที่ของตนในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีขององค์กร โดยทางบริษัทได้ปรับปรุงและพัฒนาแบบทดสอบดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และกำหนดให้พนักงานที่ทำแบบทดสอบได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและทำแบบทดสอบจนผ่านเกณฑ์ นอกจากการกำหนดให้พนักงานปัจจุบันต้องทำแบบทดสอบโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดการปฏิบัติงานแล้ว พนักงานที่เข้าทำงานระหว่างปีทุกคนก็ถูกกำหนดให้ทำแบบทดสอบดังกล่าวเพิ่มเติมจากการเข้าฟังกฎระเบียบในการปฐมนิเทศ ทั้งนี้ ผลการทดสอบดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของพนักงานในรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี (ทั้งนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจบนหน้า website นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทในหัวข้อ การกำกับดูแลกิจการที่ดี)

โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีคณะกรรมการบริษัท จำนวน 13 ท่าน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นเพศหญิงจำนวน 7 ท่าน และเพศชายจำนวน 6 ท่าน มีกรรมการที่เป็นผู้บริหารจำนวน 6 ท่าน มีกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร จำนวน 7 ท่าน และมีกรรมการบริหารที่เป็นเพศหญิงจำนวน 4 ท่าน (เป็นกรรมการอิสระจำนวน 5 ท่าน) โดยมีกรรมการอิสระที่เป็นเพศหญิงจำนวน 2 ท่าน กรรมการอิสระมีคุณสมบัติตรงตามนิยาม “กรรมการอิสระ” ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 5 ท่าน และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ จำนวน 4 ท่าน

ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่ง 1 ใน 3 เป็นอัตรา หรือใกล้เคียงกับส่วน 1 ใน 3 ตามข้อบังคับของบริษัทฯ และเมื่อครบวาระแล้วอาจได้รับการเลือกตั้งกลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก

บริษัทฯ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่โดยได้กำหนดอำนาจอนุมัติ และดำเนินการของบริษัทไว้อย่างชัดเจนตามประเภทของธุรกรรม โดยได้จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามสายงานอันได้แก่ หน่วยงานผลิต หน่วยงานบัญชีและการเงิน หน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ หน่วยงานขายในประเทศและต่างประเทศ และอื่นๆ โดยได้ถูกบรรจุไว้ในระเบียบอำนาจอนุมัติและดำเนินการฉบับที่ 1/2564 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2564

ด้วยบทบาท และภาระหน้าที่ที่แตกต่างกันระหว่างประธานกรรมการบริษัทฯ กับกรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ จึงกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทฯ ต้องมิใช่บุคคลเดียวกันกับกรรมการผู้จัดการ เพื่อแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดความสมดุลในอำนาจการดำเนินงาน นอกจากนี้ คณะกรรมการทุกท่านมีอิสระในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อกำกับดูแลให้การดำเนินงานของฝ่ายจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามประธานกรรมการบริษัทไม่ได้เป็นกรรมการอิสระ แต่ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระเปิดโอกาสให้คณะกรรมการทุกท่านมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่และแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทฯ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัทได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจจึงกำหนดให้มี ความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัทและเห็นว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การตัดสินใจและการทำงานของคณะกรรมการบริษัท

ทั้งนี้ ความหลากหลายนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะในเรื่องเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึง อายุ ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ในวิชาชีพ ทักษะและความรู้ ดังนั้นในการสรรหาและการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการของบริษัทจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและใช้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกซึ่งได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของความหลากหลายมาประกอบด้วย

อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการ

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการต่าง ๆ แทนบริษัทซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของประธานกรรมการ

ประธานกรรมการบริษัทฯมีหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนธุรกิจ ดูแลติดตาม การบริหารจัดการของฝ่ายบริหาร คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือ แต่ต้องไม่มีส่วนร่วมและไม่ก้าวก่ายในการบริหารงานปกติประจำวัน นอกจากนี้ประธานกรรมการบริษัทฯ ต้องมีภาวะผู้นำดูแลกรรมการมิให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร โดยทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมทั้งในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม สนับสนุนและผลักดันให้ผู้ร่วมประชุมใช้สิทธิออกเสียง และปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ

โดยกำหนดให้มีการจัดองค์ประกอบ ขนาด และโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการอิสระ

จัดให้เกิดการมีส่วนร่วมกันของกรรมการที่เป็นผู้บริหาร กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารและกรรมการอิสระในกิจกรรมและกระบวนการทางการตัดสินใจในของคณะกรรมการบริษัท

จัดให้มีการประเมินและพัฒนาผลงานของคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอและความมุ่งหวังในการร่วมมือกันของกรรมการและผลการปฏิบัติงานของกรรมการ

อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ

กรรมการผู้จัดการมีหน้าที่ในการบริหารงานประจำเพื่อให้เป็นไปตามเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ นโยบาย กฎระเบียบ คำสั่ง และมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและ/หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและ/หรือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

  1. จัดให้มีการจัดทำนโยบายธุรกิจ แผนงานทางธุรกิจ และงบประมาณ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ และมีหน้าที่ในการรายงานความคืบหน้าของแผนงานธุรกิจที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทตามช่วงระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้
  2. บริหารจัดการการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายธุรกิจของบริษัท แผนงานทางธุรกิจและงบประมาณเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเงินที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
  3. กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน การจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายในการบริหารจัดการ เพื่อให้มั่นใจว่าการเติบโตทางธุรกิจโดยรวมของบริษัทเป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนงานทางธุรกิจของบริษัท
  4. กำหนด ตรวจสอบ และเสริมสร้างมาตรฐานขององค์กรให้มีความแข่งแกร่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการแข่งขันและการสร้างมูลค่าแก่องค์กร โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่องกับบุคคลากรและผลิตภัณฑ์
  5. วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ของสภาวะอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อคาดการณ์การถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายในอุตสาหกรรมและเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท
  6. พิจารณาและอนุมัติ การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอนพิจาณาความดีความชอบมาตรการทางวินัย ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงาน จัดให้มีมาตรฐานการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและทบทวนมาตรฐานดังกล่าวเป็นประจำทั้งนี้มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดแย้งกับอำนาจของคณะกรรมการบริหาร
  7. ออกระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติงานของบริษัทฯ โดยไม่ขัดแย้งกับนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการบริหาร
  8. อนุมัติรายการปกติทางการเงินของบริษัท ฯ
  9. มีอำนาจในการมอบอำนาจช่วง และ/หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงในฐานะตัวแทนการมอบอำนาจช่วง และ/หรือมอบหมายให้บุคคลอื่น จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของอำนาจ และ/หรือภายใต้กฎระเบียบภายใน หรือคำสั่งที่ได้รับจากคณะกรรมการบริษัท และ/หรือบริษัทการมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการอาจไม่สามารถกระทำได้ ในกรณีที่เป็นการอนุมัติรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ตามคำนิยามของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน) โดยอาจมีส่วนได้เสีย หรือได้รับผลโยชน์ในทุกรูปแบบ หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท หรือบริษัทย่อย เว้นแต่รายการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายและหลักเกณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหรือที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

เพื่อให้กรรมการสามารถอุทิศเวลาและความพยายามในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายจำกัดจำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละคนจะไปดำรงตำแหน่งไว้ดังนี้

  1. คณะกรรมการบริษัท มีการกำหนดนโยบายในไปดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทจดทะเบียนอื่นของกรรมการผู้จัดการ(CEO)ไว้ได้ไม่เกิน 2 บริษัท
  2. คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้กรรมการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นได้ไม่เกิน 5 บริษัท แต่ไม่ได้กำหนดการเป็นกรรมการในบริษัทที่มิได้จดทะเบียน
  3. ในกรณีที่กรรมการรายใดรายหนึ่งของบริษัทฯ จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 5 บริษัท ก็ให้ชี้แจงผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องทราบถึงเหตุผลและผลต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการดังกล่าวไว้ในแบบแสดงข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 one report) ด้วย

การกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นไปอย่างชัดเจนโปร่งใส จากการเปรียบเทียบกับบริษัทฯในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษากรรมการที่มีความรู้ความสามารถไว้ได้ และค่าตอบแทนของกรรมการมีการ นำเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี

สำหรับค่าตอบแทนผู้บริหาร เป็นไปตามหลักการและนโยบายที่คณะกรรมการบริหารกำหนดซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแต่ละท่าน

คณะกรรมการบริษัทฯได้กำหนดให้มีการประชุมขั้นต่ำไม่น้อยกว่าปีละ6 ครั้ง(ไตรมาสละ 1 ครั้ง) และอาจมีการประชุมวาระพิเศษเพิ่มเติมตามความจำเป็น โดยมีการกำหนดตารางการประชุมล่วงหน้าเป็นรายปีและมีการกำหนดระเบียบวาระการประชุมที่ชัดเจนและนำส่งเอกสารให้คณะกรรมการก่อนวันประชุมล่วงหน้าอย่างครบถ้วนเพียงพอให้คณะกรรมการ ไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้คณะกรรมการมีเวลาในการพิจารณาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ

ในที่ประชุม ประธานคณะกรรมการบริษัท เปิดโอกาสให้กรรมการทุกท่านแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเต็มที่ และในการประชุมได้เชิญผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจ้งข้อมูลหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยตรงเพื่อประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ มีการจดบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดเก็บรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองแล้วจากคณะกรรมการบริษัทอย่างเป็นระบบซึ่งสามารถตรวจสอบและอ้างอิงได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ในการลงมติแต่ละวาระของการประชุมคณะกรรมการบริษัทต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด

บริษัทได้จัดให้มีการประเมินผลงานประจำปีของกรรมการบริษัทโดยแบ่งออกเป็นการประเมินผลทั้งคณะและการประเมินผลตนเองเป็นรายบุคคล ทั้งนี้แบบประเมินผลของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรการชุดย่อยทุกชุดมีหลักเกณฑ์ในการประเมินเป็นแนวทางเดียวกันและมีความสอดคล้องกับตัวอย่างแบบประเมินตนเองของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ รวมทั้งได้มีการทบทวนเพื่อให้มีความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ

บริษัท มีกระบวนการการประเมินผลคณะกรรมการโดยเลขานุการบริษัทเป็นผู้จัดส่งแบบประเมินให้แก่กรรมการเพื่อประเมินผลและส่งกลับมายังบริษัทโดยบริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อกรรมการที่ประเมินเพื่อให้กรรมการมีความเป็นอิสระในการประเมินผล และบริษัทมีการนำเสนอผลการประเมินต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อร่วมการพิจารณาประเมินผลและกำหนดแนวทางปรับปรุงในการปฏิบัติงานของกรรมการให้ดียิ่งขึ้น

  1. บริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกคน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง
  2. สำหรับกรรมการที่เพิ่งเข้ารับการดำรงตำแหน่ง บริษัทก็ได้มีการปฐมนิเทศให้กรรมการใหม่โดยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างองค์กร ลักษณะการดำเนินธุรกิจ การดำเนินงานของบริษัท ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลบริษัทในเครือ การประชุม คณะกรรมการบริษัท และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง
  3. บริษัทส่งเสริมให้กรรมการทุกท่านเข้ารับการอบรมหรือสัมมนาหลักสูตรเกี่ยวกับกรรมการ
  4. บริษัทจัดให้มีแผนสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession Plan) สำหรับตำแหน่งงานหลัก โดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งในแผนกลยุทธ์เพื่อประโยชน์ในการสืบทอดงาน และเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้บริหารตามแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่แทนกรณีที่กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายใน จึงได้จัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทั้งในด้านการบริหาร การเงิน การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล และเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีความอิสระ สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการบริษัทฯได้จัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบระบบควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงโดยได้กำหนดให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน รายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อคณะกรรมการตรวจสอบคอยทำหน้าที่สอบทานว่าบริษัทฯ ได้มีการปฏิบัติตามระบบควบคุมภายในอย่างเพียงพอ

คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศทั้งทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน ที่มีความครบถ้วน เพียงพอ โปร่งใส ทันเวลา และทั่วถึง โดยบริษัทฯ มีการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ และข่าวสารต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.sabina.co.th เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก และรวดเร็ว เช่น ข้อมูลลักษณะการประกอบธุรกิจ งบการเงิน โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างองค์กร รายงานประจำปี หนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น และข้อมูลอื่นๆที่จำเป็น

นอกจากนั้น ทางบริษัทฯได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อให้บริการข้อมูลและข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯกับผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนการตอบข้อซักถามของนักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถติดต่อเข้ามาทางผู้ดูแลหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์คือ คุณบุญชัย ปัณฑุรอัมพร และ คุณสมคิด ผดุงเกียรติศักดิ์ โดยผ่านทางอีเมล์ : ir@sabina.co.th หรือโทรศัพท์ได้ที่ โทร.02-422-9400

กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท
กฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ
นโยบายด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก
นโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์
นโยบายการสรรหาและค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
นโยบายด้านความยั่งยืน
นโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
นโยบายสิ่งแวดล้อม
นโยบายการสื่อสารการตลาด
นโยบายการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย
นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับคู่ค้า
นโยบายการคัดเลือกและประเมินคู่ค้า
นโยบายการเรียกคืนผลิตภัณฑ์
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการประชุมผู้ถือหุ้น
นโยบายความเป็นส่วนตัวสำหรับลูกค้า
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพนักงาน
นโยบายการกำหนด Credit term สำหรับคู่ค้า
นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
นโยบายด้านคุณภาพ
นโยบายการบริหารความเสี่ยง
นโยบายด้านภาษี
นโยบายการใช้แรงงานเด็ก
นโยบายการสื่อสารการตลาดอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
จริยธรรมและจรรยาบรรณธุรกิจ
จรรยาบรรณสำหรับคู่ค้า
หนังสือรับรองบริษัท
ข้อบังคับบริษัท
โครงการบริจาคหน้ากากผ้า
Sewing Cup Sewing Heart เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็ง
โครงการพัฒนาชุมชนรอบโรงงาน
รายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี
แผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
รายงานการประชุมคณะกรรมการความยั่งยืน ครั้งที่ 1/2565
ระยะเวลาการชำระเงินให้คู่ค้าที่เกิดขึ้นจริง
Sustainable Product
การสำรวจความพึงพอใจในการปฏิบัติงานประจำปี 2565
สรุปผลคะแนนประเมิน AGM Checklist ประจำปี 2566